กฎหมายค้ำประกัน
กฎหมายค้ำประกัน สามารถแบ่งประเด็นในการศึกษาออกได้เป็น 7 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้คือ
(1).ที่มาที่ไปของกฎหมายค้ำประกัน
(2).ค้ำประกันคืออะไร
(3).ภาพรวมสัญญาค้ำประกัน
(4).แบบสัญญาค้ำประกัน
(5).ความรับผิด / เกราะป้องกันของผู้ค้ำประกัน
(6).สิทธิของผู้ค้ำประกัน
(7).กรณีการค้ำประกันการทำงาน (กรณีพิเศษ)
(1).ที่มาที่ไปของกฎหมายค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกัน ในทางกฎหมายจะเรียกว่าสัญญาอุปกรณ์ นั้นก็คือสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องเกิดจากการที่มีสัญญาประธานขึ้นมาเสียก่อน โดยปกติแล้วสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นมาคู่กับสัญญากู้ยืมเงิน
อย่างในกรณีตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้คนหนึ่ง ถ้าเจ้าหนี้คนนั้นมีความมั่นใจที่จะให้เรากู้ยืมเงิน เราก็สามารถที่จะกู้ยืมเงินได้ โดยจะมีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ยก็แล้วแต่เรากับเจ้าหนี้จะตกลงกัน แต่ถ้าในกรณีที่เจ้าหนี้ไม่มั่นใจในตัวเรา เราก็จะต้องมีหลักประกันเพื่อให้เจ้าหนี้เกิดความมั่นใจในตัวเรา แล้วเราก็สามารถกู้ยืมเงินได้นั่นเอง
โดยหลักประกันสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ
(1).คน การที่ใช้คนมาเป็นหลักประกันเราจะเรียกว่า “ค้ำประกัน” โดยใช้คน ความสามารถของคนมาเป็นหลักในการค้ำประกัน ตามสัญญาประธานที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง
(2).ทรัพย์ การที่ใช้ทรัพย์มาเป็นหลักประกันเราจะเรียกว่า “จำนอง หรือ จำนำ”
(2).ค้ำประกันคืออะไร
สัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 681 วรรค 1 คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอก (ผู้ค้ำประกัน) ผูกผันตนเองต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง ซึ่งจะชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ก็มีความมั่นใจ
(3).ภาพรวมสัญญาค้ำประกัน
(1).เป็นสัญญาระหว่าง คนภายนอกกับเจ้าหนี้ ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้หรือลูกหนี้ร่วม จะต้องเป็นคนภายนอกเท่านั้น โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากลูกหนี้ (ฎีกา 762/2519)
(2).สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกณ์ซึ่งจะต้องเกิดเมื่อมีสัญญาประธานเกิดขึ้นเสียก่อนนั่นเอง
(3).ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด เมื่อลูกหนี้ “ผิดนัด” เท่านั้น ถ้าไม่ผิดนัดผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดเลย
(4).ถ้าหนี้ค้ำประกัน ไม่ใช่หนี้ทางแพ่ง ก็จะไม่สามารถค้ำประกันได้ อย่างเช่น หนี้อาญา
(4).แบบสัญญาค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันนั้น เพียงแค่เราตกลงด้วยวาจา ก็ถือว่าสัญญานั้นสมบูรณ์แล้วตามมาตรา 680 วรรค 2 ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นถ้าสมมติเราต้องการเป็นหนังสือ ก็สามารถที่จะทำได้เป็นหนังสือได้ จะต้องลงชื่อผู้ค้ำประกันในหนังสือนั้นด้วย โดยที่จะมีประโยชน์เมื่อเราต้องการฟ้องร้องคดีนั่นเอง ซึ่งการที่เราตกลงกันเพียงวาจาเท่านั้น เมื่อต้องการฟ้องร้องบังคับคดี ก็อาจจะทำไม่ได้เลย เพราะไม่มีหลักฐานนั่นเอง
(5).ความรับผิด / เกราะป้องกันของผู้ค้ำประกัน
ในส่วนแรกจะพูดถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
หมายความว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องจ่ายเงินชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ “ผิดนัด” เท่านั้น โดยการผิดนัดของลูกหนี้นั้นสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ
(1).หนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 204 วรรค 1 คือ ไม่มีการตกลงว่าจะต้องใช้หนี้กันเมื่อไร ถ้าเกิดเจ้าหนี้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ความรับผิดก็จะตกแก่ผู้ค้ำประกันทันที
(2).หนี้มีกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 204 วรรค 2 คือ การมีระยะเวลาที่ชำระหนี้ที่แน่นอน แต่ถ้าเกิดเจ้าหนี้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ความรับผิดก็จะตกแก่ผู้ค้ำประกันทันที
(3).หนี้มีกำหนดระยะเวลา และจะระบุวันที่จะต้องชำระหนี้ลงไปในหนังสือสัญญาด้วย และก็จะมีระยะเวลาบอกกล่าวก่อน
(4).หนี้จากมูลละเมิด ตามมาตรา 206 โดยที่ระบุไว้ว่า เจ็บ ตาย กาย ทรัพย์ ตามมาตรา 420 โดยจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่การทำละเมิด
สิ่งที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดก็จะประกอบไปด้วย
(1).เงินต้นที่ค้ำประกัน
(2).ดอกเบี้ย ต้องไปดูที่สัญญาประธาน ตามมาตราที่ 683 เฉพาะรับผิดไม่จำกัดจำนวน
(3).ค่าสินไหมทดแทน
(4).ค่าธรรมเนียมต่างๆในการบังคับ ฟ้องร้องคดี
ในส่วนต่อมาก็จะพูดถึงเกราะป้องกันของผู้ค้ำประกัน
เกราะป้องกันของผู้ค้ำประกันนั้นจะสามารถที่จะช่วยบรรเทาความรับผิดได้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามลูกหนี้ให้มาใช้หนี้เจ้าหนี้ หรือการเลื่อนระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป โดยสามารถที่จะแบ่งได้เป็นข้อๆได้ดังต่อไปนี้ คือ
(1).เช็คให้ดีว่า หนี้อาจจะยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเนื่องมาจาก การรับผิดของผู้ค้ำประกันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น แต่ถ้าเกิดว่าลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัด เราก็ยังไม่ต้องใช้หนี้แทนลูกหนี้
(2).บอกปัดไป โดยให้ไปตามหนี้ที่ลูกหนี้เสียก่อน แต่ถ้าเจ้าหนี้เคยไปเรียกกับลูกหนี้มาแล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังไม่ยอมใช้หนี้คืน ผู้ค้ำประกันก็จำเป็นที่จะต้องใช้หนี้แทนลูกหนี้
(3).พิสูจน์ว่าลูกหนี้มีตังค์ใช้หนี้จริงๆ โดยจะต้องหลักฐานอ้างอิงจริงๆด้วย และสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วย
(4).เจ้าหนี้มีทรัพย์ลูกหนี้เป็นประกัน ให้ไปเรียกใช้หนี้กับลูกหนี้ก่อนที่จะมาเรียกเก็บที่ผู้ค้ำประกัน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ “อย่ารับผิดร่วมกับลูกหนี้” เพราะฉะนั้นจะต้องอ่านสัญญาประธาน และสัญญาค้ำประกันให้ดีๆเสียก่อน ที่จะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับผู้อื่น แต่ถ้าเผลอรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จะไม่สามารถใช้เกราะป้องกัน ตามมาตรา 688 มาตรา689 มาตรา690 ได้เลย
(6).สิทธิของผู้ค้ำประกัน
คือ ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิสวมสิทธิเจ้าหนี้ เจ้าหนี้สามารถทำอะไรได้ ผู้ค้ำประกันก็สามารถที่จะทำตามเจ้าหนี้ได้ โดยเงินที่ผู้ค้ำประกันจ่ายให้แก่เจ้าหนี้นั้น ก็ไม่ได้สูญเปล่าไปเสียยทีเดียว แต่ผู้ค้ำประกันสามารถจะไปเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ เสมือนว่าผู้ค้ำประกันเป็นเจ้าหนี้เลย โดยตามกฎหมายแล้ว กฎหมายจะให้การคุ้มครองผู้ค้ำประกันไว้เป็นอย่างดี
(1).ร้องศาลสั่งบังคับลูกหนี้ชำระหนี้
(2).เข้าควบคุมทรัพย์สินลูกหนี้ เสมือนเป็นเจ้าหนี้
(3).หลักประกันแห่งหนี้
(4).ฟ้องคดีในนามตนเองได้
(5).เปลี่ยนแปลงชื่อทะเบียนของเจ้าหนี้เดิมมาเป็นของตน
(6).เรียกดอกเบี้ยที่ตนเองชำระหนี้ไป
โดยอายุความในการไล่เบี้ยกันนั้น มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(7).กรณีการค้ำประกันการทำงาน (กรณีพิเศษ)
ในปัจจุบันการค้ำประกันการทำงานเกิดขึ้นบ่อยมาก เกิดขึ้นในทุกๆที่ เพื่อเป็นการประกันแก่นายจ้าง โดยมีหลักสังเกตสองประการคือ
(1).ผู้ค้ำประกัน รับผิดเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากหน้าที่ของลูกจ้าง โดยผู้ค้ำประกันจะรับผิดเฉพาะสิ่งที่ลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น โดยจะต้องอ่านสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาอาจจะระบุให้รับผิดเนื่องมากจากนอกเหนือจากหน้าที่ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นต้องอ่านสัญญาให้ดีเสียก่อนที่จะไปค้ำประกันให้ใคร
(2).เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ต้องเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันใหม่ด้วย เพราะ สัญญาค้ำประกันจะไม่ผูกพันไปถึงตำแหน่งหน้าที่ใหม่
เพราะฉะนั้นการที่ผู้ค้ำประกัน จะไปค้ำประกันให้ใคร ก็พึงจะต้องศึกษากฎหมายในข้อนี้ให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิด หรือใช้หนี้แทนลูกหนี้นั่นเอง